แก้ปัญหา การบาดเจ็บ แบบดิบๆ

  • ผู้เขียนขอแจ้งว่าข้อเขียนดังต่อไปนี้ เป็นกรณีศึกษาที่ใช้ได้ผลกับผู้เขียนเท่านั้น และขอนำเสนอเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไม่ใช่เป็นวิชาการ
  • ผู้เขียนไม่ใช่แพทย์ ไม่ใช่นักเวชศาสตร์การกีฬา หรือไม่ใช่นักกายภาพบำบัด เพียงแต่เป็นผู้ที่อยู่ในวงการเวทเทรนนิ่งมามากว่า 20 ปี
  • ผู้เขียนไม่ขอรับผิดชอบกรณีใดๆ ต่อการบาดเจ็บ หรือความเสียหาย ต่อร่างกาย หรือทรัพย์สิน ที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้อ่าน

การบาดเจ็บ กันการเล่นเวทเทรนนิ่ง เป็นของคู่กัน เฉกเช่นเดียวกันการบาดเจ็บในการเล่นกีฬาอื่นๆ

การป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นเวท คือการ warm-up และ stretching กล้ามเนื้อก่อนเล่น ทำให้กล้ามเนื้อเตรียมพร้อมต่อโหลด แรงกระแทก และแรงกระชาก ที่กำลังจะเกิดขึ้น

เรื่องนี้ผมรู้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่เล่นเวทแล้ว

แต่สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

มีอยู่วันหนึ่ง รู้สึกเนื่อยๆ เบื่อๆ เพลียๆ แต่ก็เข้ายิมอออกกำลังกายตามปกติอย่างที่ทำ ผมนอนราบไปกับ ม้า Supine Press Bench ซึ่งมีน้ำหนักใส่ไว้อยู่แล้ว มีคนเล่นเสร็จแล้วไม่ได้เก็บเข้าที่

ผมไม่ได้ warm-up จากน้ำหนักที่น้อยไปหามาก หรือ stretching อย่างที่เคย

ได้เรื่องครับ เล่นไปไม่กี่ครั้งก็รู้สึกเจ็บแปลบที่หัวไหล่ขวาช่วยรอยต่อแขนกับลำตัว จากนั้นผมจะยกแขนเหนือศีรษะแทบไม่ได้เลย เพราะจะเจ็บ

barbell supine bench press

ร้อนไปถึงต้องหาหมอ ที่โรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงในแผนกกระดูก-เส้น-เอ็น (Orthopedic)

จากหมออายุรกรรม ถูกส่งตัวไปหมอกระดูก หมอก็ดูแลอย่างดีครับ วินิจฉัยว่าเป็น impingement syndrome ซึ่งเป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อช่วงรอยต่อของหัวไหล่

ถ้าเป็นการอธิบายของคนธรรมดาที่ไม่ใช่แพทย์คือ อย่างในจุดที่ต้นขาเชื่อมกับสะโพกนั้น เป็นเบ้าเข้าไป ซึ่งกล้ามเนื้อในเบ้าสะโพกนั้น สามารถเกาะยึดกระดูกต้นขาได้อย่างดี เพราะมีพื้นที่เยอะ

ต่างกับหัวไหลกับลำตัวที่แทบจะไม่มีโครงสร้างใดๆยึดเข้ากันเลย เป็นกล้ามเนื้อเส้นเอ็นล้วนๆ การอักเสบของกล้ามเนื้อส่วนนี้นั้น จึงเกิดขึ้นได้ง่าย แต่รักษายาก

แต่ถ้ามองย้อนหลังไปก็เห็นว่า สูตรสำเร็จของอาการกล้ามเนื้ออักเสบที่ผมเจอคือ ให้กินยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้ปวด กินอยู่ 2-3 โดส ไม่หาย

หมอจึงส่งตัวไปแผนกกายภาพบำบัด ซึ่งช่วงนั้นต้องไปทุกวัน จำไม่ได้ว่าทำอะไรบ้าง แต่มาสิ้นสุดที่การฉายแสงอะไรบางอย่างที่หัวไหล่ ถ้าจำไม่ผิดคือ ultra-sound

ไม่ได้ผลทั้งหมดครับ ยกแขนเมื่อไร เจ็บหัวไหล่เหมือนเดิม

ช่วงนั้นหมดอาลัยตายอยาก คิดว่าชาตินี้คงออกกำลังยกเวทอีกไม่ได้เป็นแน่แท้

ทิ้งระยะเวลาพักฟื้นมาอีกหน่อย ไม่ได้ไปกายภาพบำบัดแล้ว แต่ยังกินยาอยู่

อยู่มาวันหนึ่ง ผมตัดสินใจว่า เมื่อเล่นเวทหนักๆอย่างที่เคยไม่ได้ก็ขอเล่นเบาๆก็แล้วกัน ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ก็ทำให้กลับเข้าฟิตเนสเซ็นเตอร์ออกกำลังกายอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการเริ่มต้นแบบมือใหม่ เช่น เล่นเบาๆ ถึงเบาที่สุด อย่างเล่นบาร์เปล่า เป็นต้น

หมายเหตู ก่อนจะถึงจุดนี้ ผมหยุดการกินยาแก้ปวด-ยาคลายกล้ามเนื้อ ไป 1-2 วัน เพราะไม่ต้องการให้ยาแก้ปวดซ่อนการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ จากนี้ คือ บาดเจ็บโดยไม่รู้ตัวเพราะกินยาแก้ปวดช่วยไว้ล่วงหน้า)

กลับบ้านวันแรก และวันรุ่งขึ้น ผมสำรวจตัวเอง ว่าหัวไหล่ขวาเจ็บขึ้นหรือไม่ ผลออกมาคือไม่

ดังนั้นวันต่อมา ผมก็เข้ายิมออกกำลังกายอีก เล่นเวทเช่นเดิมอีก แต่เพิ่มน้ำหนักขึ้นเล็กน้อย แทบจะเป็นผู้หญิงเล่น

วันแล้ววันเล่าผ่านไป ปรากฏว่าผมค่อยๆไต่เต้าสู่การเล่นปกติ โดยที่หัวไหล่ไม่ได้เจ็บมากขึ้นเลย จนถึงวันหนึ่งที่รู้สึกว่าเราไม่ได้เป็น impingement syndrome แล้ว หรือถ้ายังเป็นก็เป็นอาการหางๆ ไม่มีผลต่อชีวิตประจำวัน หรือการเล่นเวทเท่าไร

ซึ่งอยากจะบอกว่า เมื่อการกินยาไม่ได้ผล และการรักษาของผมอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่เป็นวิธีที่ได้ผลกับผมได้

Share on